วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น

ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

สาระสำคัญ

ภาคอีสานมีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์แสดงถึงความเป็น “ไทย” อย่างโดดเด่น และสืบทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยสะท้อนออกมาในรูปขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา ภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม โบราณคดี การละเล่น ดนตรี นาฏศิลป์ และชีวิตความเป็นอยู่ และวิทยาการท้องถิ่น ซึ่งเป็นมรดกทางปัญญาของกลุ่มชน เป็นศักดิ์ศรีของท้องถิ่นที่ น่าภาคภูมิใจ และควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สืบไป

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

รู้ และเข้าใจความหมาย ประเภท พัฒนาการของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น สามารถวิเคราะห์การสร้างสรรค์ และตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

จุดประสงค์การเรียนรู้

  • อธิบายความหมาย และประเภท ของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นได้
  • อธิบายพัฒนาการของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นได้
  • อธิบายการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นได้
  • ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • สรุปความหมาย ประเภท พัฒนาการ การสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นได้

สาระการเรียนรู้


ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น” หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นตามวิถีชีวิตของคนในสังคม เป็นแบบแผนการประพฤติปฏิบัติ และการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่สมาชิกในสังคมเดียวกันสามารถเข้าใจ ซาบซึ้ง ยอมรับ และใช้ปฏิบัติร่วมกันอันจะนำไปสู่ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ ซึ่งการศึกษารายวิชา ส40217 ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการศึกษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคอีสาน

ประเภทของศิลปวัฒนธรรม

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2530 : 8) ได้แบ่งศิลปวัฒนธรรมออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
  • ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และศาสนา
  • ภาษา และวรรณกรรม
  • ศิลปกรรม และโบราณคดี
  • การละเล่น ดนตรี และนาฏศิลป์
  • ชีวิตความเป็นอยู่ และวิทยาการ
การศึกษารายวิชา ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น นี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่ดีงาม มีคุณค่าของชาวอีสานที่ได้ประพฤติปฏิบัติหรือแสดงออกมาช้านาน ซึ่งในแต่ละหมวดแยกย่อยตามขอบข่าย ได้ดังนี้
  • ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และศาสนา
ชาวอีสานเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาเชื่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ผูกพันกับขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นถือปฏิบัติตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อถือเกี่ยวกับโชคลาง ฤกษ์ยาม และโหราศาสตร์
  • ภาษา และวรรณกรรม
ชาวอีสานมีภาษาพูดที่ใช้ติดต่อสื่อสารเรียกว่า “ภาษาไทยอีสาน” ในการดำเนินชีวิตในประจำวัน มีอักษรที่นิยมใช้ในในอดีต คือ อักษรไทยน้อย อักษรธรรม และอักษรขอม ปัจจุบันมีผู้ใช้ และศึกษาอยู่น้อยมาก
สำหรับวรรณกรรมมี 2 ประเภท คือ วรรณกรรมมุขปาฐะใช้วาจาสืบทอด และวรรณกรรมลายลักษณ์อักษร
  • ศิลปกรรม และโบราณคดี
  • ศิลปกรรม และโบราณคดีเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อความงามหรือเพื่อประโยชน์ใช้สอย รวมทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อความเชื่อของกลุ่มชน ศิลปกรรม โบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สำคัญของภาคอีสาน มีดังนี้
    >> ศิลปกรรม เป็นงานที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างประณีตงดงามเพื่อความจรรโลงใจ และเพื่อประโยชน์ใช้สอย ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ศิลปหัตถกรรม

    >> โบราณคดี ได้แก่ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว
     
  • การละเล่น ดนตรี และนาฏศิลป์
  • การละเล่น เป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านในท้องถิ่นแสดงความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ ดนตรีท้องถิ่นมีทั้งเสียงที่ประกอบกันเป็นทำนองเพลงที่เกิดจากการขับร้อง และดนตรีที่เกิดจากการบรรเลงโดยเครื่องดนตรี ส่วนนาฏศิลป์ท้องถิ่น คือ ศิลปะการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของร่างกายให้กับจังหวะดนตรีเพื่อความสวยงาม และสนุกสนาน 
  • ชีวิตความเป็นอยู่ และวิทยาการ
  • กิจกรรมการดำเนินชีวิตของชาวอีสานเพื่อสร้างเสริมความเป็นอยู่อย่างมีความสุขที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน มีหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การแต่งกาย อาหาร ที่อยู่อาศัย การรักษาโรค และการประกอบอาชีพ 

พัฒนาการของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

  • พัฒนาการศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในภาคอีสานอาจแบ่งได้อย่างกว้าง ๆ ตามแบบแผนของการดำรงชีวิต โดยอาศัยวิธีการของนักโบราณคดีคือ บุพกาล (Primitive society) เป็นสังคมเริ่มแรกซึ่งอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 12,000 – 5,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ในสมัยนั้นมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายตามเพิงผา ถ้ำและ บริเวณใกล้ริมน้ำ เช่น บริเวณหน้าผาริมฝั่งแม่น้ำโขง เช่น บริเวณผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ชุมชนต่าง ๆ 
 จากนั้นได้พัฒนามาเป็นสังคมกสิกรรมเมื่อประมาณ 5,600 ปีมาแล้ว ชุมชนในอีสานได้อพยพจากที่สูงตามเพิงผา ลงมาอยู่ในบริเวณที่ต่ำ เช่น ที่บ้านเชียง บ้านนาดี ในจังหวัดอุดรธานี และที่โนนนกทา โนนชัย ในจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
  • พัฒนาการศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสมัยประวัติศาสตร์
การพัฒนาชุมชนเกษตรกรรมมาเป็นชุมชนแบบเมืองในดินแดนอีสานนั้นได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย และจีน โดยเฉพาะอิทธิพลทางด้านศาสนาจากอินเดียส่งผลให้ดินแดนแถบนี้ได้เริ่มก่อตั้งเป็นเมืองหรือเป็นรัฐ โดยพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงว่าชุมชนอีสานได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียโดยผ่านขึ้นมาตามลำน้ำโขง (อาณาจักรเจนละ) และ จากภาคกลางของประเทศไทย (อาณาจักรทวารวดี) มีความเกี่ยวพันกับอาณาจักรล้านช้าง และอาณาจักรขอม และอาณาจักรสยาม
ภาคอีสานสามารถจำแนกลักษณะของกลุ่มชน และลักษณะทางสังคม ได้ดังนี้
ลักษณะของกลุ่มชน ภาคอีสานประกอบด้วยกลุ่มชนหลายกลุ่ม ได้แก่ ชาวไทย – ลาว ชาวไทย – กัมพูชา ชาวผู้ไท หรือภูไท ชาวเวียดนาม หรือชาวญวน และชาวจีน
ลักษณะทางสังคม ภาคอีสานสามารถจำแนกเขตทางสังคม ได้ดังนี้
>> เขตอีสานเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู สกลนคร และนครพนม 
>> เขตอีสานตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ 
>> เขตอีสานตะวันออก ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร และอุบลราชธานี 
>> เขตอีสานตอนใต้ ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ 
>> เขตอีสานตะวันตก ได้แก่ จังหวัดเลย ชัยภูมิ และนครราชสีมา 

 โดยอีสานเขตอีสานเหนือ ตอนกลาง ตะวันออก และตะวันตก ในพื้นที่จังหวัดเลย ชัยภูมิ มีความเกี่ยวพันด้านศิลปวัฒนธรรมกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนอีสานตอนใต้ และตะวันตกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีความเกี่ยวพันด้านศิลปวัฒนธรรมกับประเทศกัมพูชา

การสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นสิ่งที่คนในท้องถิ่นสร้างสรรค์ขึ้นตามวิถีชีวิตของคนในสังคม เป็นแบบแผนการประพฤติปฏิบัติ และการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดในสถานการณ์ต่าง ๆ มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมทางสังคม ดังนี้
  • สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ 
    คนในท้องถิ่นได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเกิดการสร้างสรรค์เป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังนี้
    >> การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน 
    >> การสร้างบ้านเรือน 
    >> อาหาร
    >> เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต
  • สภาพแวดล้อมทางสังคม
    คนในท้องถิ่นได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคมเกิดการสร้างสรรค์เป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ดังนี้
    >> การประกอบอาชีพ 
    >> ศาสนา และคติความเชื่อ 
    >> ระบบอาวุโส 
    >> การประกอบอาชีพ
    >> การติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มชนอื่น ๆ

การสู่ขวัญควาย

ภาพการลงแขกดำนา

คุณค่าของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมีคุณค่า ดังนี้
  • เป็นเครื่องมือก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี
  • ให้ความบันเทิงแก่กลุ่มชนในสังคม
  • เป็นเครื่องมือให้การศึกษา
  • เป็นเครื่องฝึกพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมให้แก่เยาวชนทั่วไป
  • เป็นเครื่องมือการควบคุมทางสังคม
ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นวิถีชีวิตที่คนในท้องถิ่นได้สั่งสม เลือกสรรและปรับปรุงแก้ไขจนเป็นเอกลักษณ์ เป็นรากฐานของการสร้างสรรค์ ความสามัคคี ความมั่นคงของชาติ เป็นสิ่งที่แสดงถึงศักดิ์ศรีเกียรติภูมิและความภาคภูมิใจร่วมกันของคนไทย ซึ่งถือว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าที่ควรได้รับการส่งเสริมและรักษาไว้

1 ความคิดเห็น:

  1. LuckyClub Casino Site - Lucky Club Live
    Lucky Club offers a high-quality gaming experience for all customers and luckyclub.live can also be accessed via the site's web browser, along with a mobile phone. The website has

    ตอบลบ